Search

พี่เสือใหญ่ - สยามรัฐ

koi.prelol.com

ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

คนที่ชอบความสุข อยู่ที่ไหนก็แสวงหาความสุขได้

เดิมพี่เสือใหญ่แกมีชื่อว่า “เสือ” เฉยๆ เพราะพ่อแม่ตั้งชื่อลูกทั้ง 5 คนด้วยชื่อสัตว์ในป่าด้วยกันทั้งนั้น คนโตชื่อกวางเป็นผู้หญิง คนต่อมาก็เป็นผู้หญิงชื่อเก้ง แล้วก็มาถึงเสือเป็นลูกคนกลาง คนที่สี่ชื่อสิงห์เป็นลูกชาย และคนสุดท้องเป็นผู้หญิงชื่อนกแก้ว ว่ากันว่าผู้เป็นพ่อตอนเป็นวัยรุ่นอยากเป็นพรานล่าสัตว์ ติดตามเพื่อนที่ปากช่องไปเข้าป่า แต่อยู่ได้ไม่ถึงปีก็ต้องกลับมา เพราะเป็นไข้ป่าเกือบตาย พอดีอายุครบบวชก็มาบวชแก้บนที่บนไว้ให้หายไข้ในครั้งนั้น พอครบพรรษก็สึกออกมาแต่งงาน กับสาวสวยคนหนึ่งแถวละแวกบ้านที่ลาดชะโด แต่ก็ยังอาลัยอาวรณ์ถึงป่า จึงได้ตั้งชื่อลูกทั้งห้าคนเป็นชื่อสัตว์ป่าทั้งหมดดังกล่าว

ใน พ.ศ. 2510 เสือเรียนจบชั้นประถมเจ็ด ซึ่งเป็นการศึกษาภาคบังคับในสมัยนั้น น้าเชื่อมคนลาดชะโดเหมือนกันมาชวนให้ไปทำงานที่บ้านสวนพลู ซึ่งบ้านสวนพลูนี้ก็คือชื่อที่คนทั้งหลายรู้จักกันว่าเป็นบ้านของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ต่อมาใน พ.ศ. 2518 ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 13 ของประเทศไทย ต้นตระกูลปราโมชซึ่งเป็นราชสกุลสำคัญสกุลหนึ่งคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนวรจักรธรานุภาพ เดิมชื่อพระองค์เจ้าปราโมช เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โดยผู้สืบสกุลนี้ได้เป็นนายกรัฐมนตรีถึง 2 คน อีกคนหนึ่งนั้นก็คือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ซึ่งเป็นพี่ชายร่วมบิดามารดาเดียวกันกับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์

บ้านสวนพลูเป็นเรือนไทยแบบที่เรียกว่า “บ้านคหบดี” หรือผู้มีอันจะกินและมีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ ซึ่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์บอกว่าเป็นทำนองเดียวกันกับ “เรือนขุนช้าง” ในเรื่องขุนช้างขุนแผน คือเป็นหมู่เรือนไทยหลายหลัง ทั้งเรือนนั่ง(รับแขก รับประทานอาหาร) เรือนนอน( 2 -3 หลัง) ครัว ห้องน้ำ หอนั่ง(ศาลากลางแจ้ง) หอพระ(หรือห้องพระในสมัยใหม่) หอเครื่อง(ไว้เก็บข้าวของหรือของมีค่าต่างๆ ที่บ้านสวนพลูไว้เก็บเครื่องสังคโลกและถ้วยชามเบญจรงค์) และหอนก(หอนั่งแบบหนึ่ง นิยมเอานกที่ร้องเสียงเพราะๆ เช่น นกเขา หรือนกปรอด มาแขวนไว้ชื่นชม) ปลูกเชื่อมติดกันด้วยนอกชานให้ไปมาระหว่างเรือนต่างๆ นั้นได้ ด้านล่างเป็นใต้ถุนโล่ง ในสมัยโบราณใช้ทำกิจกรรมของครอบครัว เช่น เก็บเครื่องไม้เครื่องมือทางการเกษตร หรือกิจกรรมต่างๆ ยามหน้าแล้ง เพราะบ้านทรงไทยเหล่านี้มักจะปลูกกันตามที่ราบลุ่มริมแม่น้ำ ชีวิตส่วนใหญ่จะอยู่บนนอกชานและเรือนชั้นบน การคมนาคมติดต่อก็ใช้เรือเป็นสำคัญ เพราะเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยแม่น้ำและคูคลอง อันเป็นวิถีชีวิตของคนไทยในภาคกลางมาแต่โบราณ แต่พอมาถึงในสมัยใหม่ ที่ใต้ถุนบ้านเรือนไทยก็จะถูกปรับปรุงเป็นส่วนจำเป็นในชีวิตตามแบบที่เจ้าของบ้านต้องการ เช่น กั้นบางส่วนเป็นห้องติดเครื่องปรับอากาศ เพื่อรับแขก รับประทานอาหาร หรือดูหนังฟังเพลง เป็นต้น อย่างที่บ้านสวนพลูก็มีห้องเหล่านั้นครบครัน

บ้านสวนพลูนี้เป็นเรือนเก่าที่เอามา “ปรุง” หรือประกอบขึ้นใหม่ โดยท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ซื้อมาจากกรุงเทพมหานครใน พ.ศ. 2494 (ที่ตอนนั้นยังเป็นเทศบาล) เป็นเรือนที่ถูกรื้อมากองไว้ที่ข้างศาลาว่าการเพื่อรอประมูลขาย ตอนนั้นท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ตั้งโรงพิมพ์สยามรัฐขึ้นมาได้เกือบหนึ่งปี ตอนนั้นท่านยังปลูกบ้านอยู่ที่ปากซอยพระพินิจ ถนนสวนพลู นั่งรถผ่านศาลาว่าการกรุงเทพมหานครอยู่เป็นประจำ พอเห็นเข้าก็ให้นึกถึงที่ดินที่ซื้อทิ้งไว้ในซอยพระพินิจ ซึ่งมีบ้านของพี่สาว(ม.ร.ว.หญิงบุญรับ พินิจชนคดี แต่งงานกับพระพินิจชนคดี อดีตอธิบดีตำรวจ และเป็นชื่อของซอยดังกล่าว)ปลูกอยู่ก่อนแล้ว จึงคิดจะเอาไปปลูกไว้ที่นั่นบ้าง

เดิมตัวเรือนที่กรุงเทพมหานครขายให้มีแค่หลังเดียว คือตัวเรือนที่เป็นเรือนใหญ่ตั้งเป็นศูนย์กลางของบ้านในเวลาต่อมา พอนึกถึงว่าถ้าจะอยู่ “อย่างไทย” ต้องอยู่ “ให้ดี ให้ได้” แบบขุนช้าง ในเรื่องขุนช้างขุนแผน ซึ่งเป็นวรรณคดีที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ชื่นชอบเป็นอย่างยิ่งเรื่องหนึ่ง ซึ่งจะต้องมีตัวเรือนอื่นๆ เข้ามาประกอบให้สมบูรณ์ ท่านจึงให้นายเชื่อม(หรือน้าเชื่อมของพี่เสือใหญ่)ซึ่งเป็นสารถีขับรถให้ท่านอยู่ในเวลานั้น ไปหาเรือนไทยแถวๆ ลาดชะโดมาเพิ่มเติม นายเชื่อมก็ไปได้มา 2 หลัง เป็นเรือนนอนทั้งคู่ พร้อมกับนำช่างที่ลาดชะโดมาช่วยกันประกอบเรือนเหล่านี้ด้วย โดยใช้เวลาปรุงประกอบตัวเรือนไม่นานนัก เนื่องจากตัวเรือนเหล่านี้เป็นบ้านที่ “สำเร็จรูป” ตามแบบเรือนไทยดั้งเดิมทั่วไป เพราะชิ้นส่วนต่างๆ ทำไว้เพื่อประกอบกันให้สำเร็จในเวลาที่รวดเร็ว ที่จะช้าก็คือการติดตั้งอุปกรณ์สมัยใหม่ จำพวกระบบไฟฟ้าและสุขภัณฑ์ รวมถึงการตกแต่งให้อยู่สบายแบบสมัยใหม่ โดยเฉพาะในบริเวณใต้ถุนและนอกชานที่ต้องตอกเข็ม ทำคาน และเทคอนกรีต เพื่อทำพื้นที่ใช้สอยอื่นๆ ซึ่งต้องใช้เวลาพอควร ครั้นเมื่อเสร็จแล้วคณะช่างจากลาดชะโดก็ได้ทำพายขนาดยาวสักหนึ่งช่วงแขน ที่ใบพายมีทองคำเปลวปิดอยู่ ติดวางไว้ที่เหนือวงกบประตูกลางเรือนใหญ่ เป็นเครื่องหมายบอกว่าเรือนนี้เป็นฝีมือช่างจาก “เหล่าฝีพาย” ซึ่งก็คือ “พลไพร่” ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ที่บรรพบุรุษของช่างเหล่านี้ได้เข้ามารับราชการเป็นฝีพายในวังหลวงและวังของเจ้านายต่างๆ ที่รวมถึงกรมขุนวรจักรธรานุภาพนั้นด้วย และยังได้เข้ามารับใช้อยู่ในบ้านของลูกหลานสกุลปราโมชต่อมาจนถึงปัจจุบัน

ในปีที่เสือตามน้าเชื่อมเข้ามาอยู่ในบ้านสวนพลู บ้านสวนพลูค่อนข้างจะเรียบร้อยสวยงามแล้ว และอัก 2 – 3 ปีต่อมา ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็ให้สร้าง “ศาลาสุโขทัย” ขึ้นที่หน้าบ้าน เชื่อมเข้ากับหมู่เรือนใหญ่ด้วยสวนไม้ดัด และตกแต่งด้วยรูปแกะสลักหินแบบนครวัด พร้อมกับทำสวนนกและสระหงส์ขึ้นหลังบ้าน ก็เป็นอันว่าบ้านสวนพลูนี้เสร็จสวยงามอย่างบริบูรณ์ ซึ่งด้านหลังบ้านที่อยู่ติดกับสวนนกจะเป็นบ้านของน้าเชื่อมกับครอบครัว ที่เป็นครัวสำหรับประกอบอาหารส่งมาที่เรือนใหญ่ข้างหน้าทุกมื้อเที่ยงและมื้อค่ำ จากฝีมือของแม่จำรัส ภรรยาของน้าเชื่อมนั่นเอง ส่วนเสือมีเรือนไม้ชั้นเดียวปลูกเป็นห้องแถวขนาด 3ห้องอยู่ถัดไปติดกับข้างรั้วอีกด้านหนึ่ง โดยอยู่ร่วมกับเด็กรับใช้อีก 2 คน โดยเสือทำหน้าที่คอยช่วยยกกับข้าวลำเลียงไปส่งที่ห้องเตรียมอาหารหน้าบ้าน รวมถึงช่วยน้าเชื่อมล้างรถ เช็ดรถ และเป็นลูกมือช่วยซ่อมแซมดูแลรักษารถ ซึ่งมีอยู่ 3 คันในตอนนั้น

สำหรับชื่อ “พี่เสือใหญ่” ก็มีที่มาที่ไป จากการที่เจ้าของบ้านสวนพลูนี้เองเป็นผู้ตั้งให้

Let's block ads! (Why?)



"ภาคบังคับ" - Google News
September 25, 2020 at 11:00PM
https://ift.tt/2FZIuuR

พี่เสือใหญ่ - สยามรัฐ
"ภาคบังคับ" - Google News
https://ift.tt/2YaK1os
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
https://koi.prelol.com/

Bagikan Berita Ini

0 Response to "พี่เสือใหญ่ - สยามรัฐ"

Post a Comment

Powered by Blogger.