Search

จับชีพจร “หนังตะลุงมลายู” ยุคโควิด-19 ดูสัญญาชีพศิลปะการแสดงพื้นบ้านชายแดนใต้ - ผู้จัดการออนไลน์

koi.prelol.com
 
รายงานโดย... สายธาร ทิมทับ และ อามานี อาบูดอแล
 


สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบไปถึงทุกๆ คนและทุกๆ ด้านดังที่ทราบกันดี แต่สำหรับ กลุ่มศิลปินพื้นบ้านคณะวายังกูลิต หรือ หนังตะลุงมลายู ที่ต้องยกคณะไปรับงานการแสดงในงานมหรสพ หรือที่ประชุมชนต่างๆ ดูจะได้รับผลกระทบสาหัสไม่น้อยหน้าใครเลยทีเดียว

เนื่องจากในสถานการณ์ปกติ งานแสดงที่รับอยู่ประจำก็มีรายได้ไม่แน่นอนอยู่แล้ว เพราะมีทั้งงานการกุศล งานญาติมิตร งานราชการ ผสมปนเปกันไปกับงานที่รับค่าตอบแทนเต็มเม็ดเต็มหน่วย เมื่อต้องเผชิญกับโควิด-19 กลุ่มศิลปินจึงต้องปรับตัวกันอย่างขนานใหญ่

เราจะไปสำรวจสถานการณ์ปัจจุบันของคณะหนังตะลุงมลายูชื่อดังคณะหนึ่งของแผ่นดินชายแดนภาคใต้ นั่นคือ  “คณะเต็งสาคอ ตะลุงบันเทิง” ศิลปินผู้มีผลงานดีเด่นของสถาบันกัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

 

เพื่อให้ได้ทราบว่า ในสถานการณ์แพร่ระบอาดของโควิด-19 ศิลปินพื้นบ้านต้องเผชิญกับอะไรบ้าง และเมื่อสถานการณ์โรคระบาดดีขึ้น ชะตากรรมของศิลปะการแสดงพื้นบ้านชนิดนี้จะเป็นอย่างไร และแนวโน้มจะเป็นเช่นใด?!

 


รู้จัก “เต็งสาคอ ตะลุงบันเทิง” ดาวรุ่งหนังตะลุงชายแดนใต้

“คณะเต็งสาคอ ตะลุงบันเทิง” เป็นคณะหนังตะลุงที่เปิดตัวทำการแสดงมาอย่างยาวนาน จนถึงปัจจุบันก็เป็นเวลานานถึง 23 ปีมาแล้ว หากนับรวมระยะเวลาที่เขาเคยติดตามพ่อหัวหน้าคณะ “อาแวสาคอ ตะลุงบันเทิง” เพื่อไปร่วมทำหน้าที่เป็น “ลูกคู่” และ “ดาแลมูดอ (นายหนังฝึกหัด)” ก็จะได้เวลาร่วม 30 ปี

เอกลักษณ์ของคณะเต็งสาคอคือ การเป็นหนังตะลุง 2 ภาษา ที่สามารถสื่อสารกับกลุ่มผู้ชมได้หลากหลาย ทั้งไทยพุทธและไทยมุสลิม ด้วยเหตุนี้พื้นที่ที่เขารับงานแสดงจึงมีทั้งในชุมชนไทยพุทธ และในกัมปง (หมู่บ้านมุสลิม)

“ก่อนโควิด-19 ก็ไปแสดงที่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานีมา เป็นหมู่บ้านไทยพุทธ ที่นั่นคนชื่นชอบหนังตะลุงไทยกันมาก เพราะเป็นกลุ่มคนไทย รอบๆ ก็เป็นมุสลิมที่พูดไทยเก่ง จึงฟังภาษาไทยได้ หนังตะลุงจากนอกพื้นที่ไม่ค่อยได้มา อาจจะเป็นเพราะสถานการณ์ความรุนแรงด้วย คณะเราที่พากย์ได้ทั้ง 2 ภาษา จึงได้รับขันหมากเชิญชวนไปบ่อยๆ”

“หนังเต็ง” หรือชื่อเต็มว่า “มะยาเต็ง” บอกเล่าให้ฟัง

มะยาเต็งเรียนหนังสือจบในภาคบังคับ จึงมีทักษะการอ่านและการเขียนภาษาไทยดียิ่ง เป็นหนังตะลุงมลายูคนแรกๆ ที่พูดภาษาไทยได้ชัดเจน เหมือนกับหนังตะลุงจากภาคใต้ตอนกลาง เขาจึงได้รับเชิญไปสาธิตการแสดงหนังมลายูนอกพื้นที่ชายแดนใต้บ่อยๆ ทั้งยังเป็นคณะกรรมการผู้ร่วมก่อตั้งชมรมหนังตะลุงภาคใต้อีกด้วย

เขาเห็นว่าภาษาเป็นกำแพงหนึ่งที่ทำให้หนังตะลุงในชายแดนใต้ไม่ได้รับความนิยมนอกพื้นที่ 3 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส แม้ว่าประวัติความเป็นมาของมันจะมีพัฒนาการมาอย่างยาวนาน จนไม่สามารถประมาณการเวลาได้ และชาวใต้โดยทั่วไปก็รู้จักกันดีว่ามีหนังตะลุงที่เรียกว่า วายังกูเละ หรือ วายังกูลิต เป็นประเภทหนังหนึ่งในจังหวัดภาคใต้ด้วย แต่คนแถบนครศรีธรรมราช สงขลา พัทลุงและสุราษฎร์ธานีก็ “ขันหมาก” มารับไปแสดงไม่ได้ เนื่องจากอุปสรรคด้านภาษา

“ทักษะภาษาไทยของผมมีทั้งที่ได้มาจากการเรียนหนังสือและอ่านหนังสือ ส่วนภาษาใต้นี่ก็ได้จากการที่มีเพื่อนคนใต้ไทยพุทธเยอะ กับนายหนังแถบจังหวัดภาคใต้ตอนกลางก็สัมพันธ์กันเป็นอย่างดี ก็คงทำให้ผมพูดภาษาใต้ได้ชัด ทำให้เวลาพากย์หนังเป็นภาษาใต้ คนฟังบอกว่าก็เป็นธรรมชาติ” มะยาเต็งเล่า


ทุกอย่างสะดุดหยุดลงเมื่อเจอ “โควิด-19”
 

หนังเต็งเล่าว่า ก่อนหน้าเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อกว่า 4 เดือนก่อน เขามีงานแสดงเดือนละไม่ต่ำกว่า 20 วัน ลูกคู่ในคณะประมาณ 15 คนแทบจะไม่ได้กลับไปพบเจอหน้าพ่อแม่ลูกเมียกันเลย วันว่างงานก็ต้องสแตนด์บายอยู่ที่บ้านของหัวหน้าคณะที่ ต.ท่าสาป อ.เมือง จ.ยะลา

 

“แต่พอเจอกับโควิด ใครจะเก่งยังไงก็ต้องหยุด งานหยุดทุกงาน ทั้งที่เจ้าภาพโทรศัพท์มาขอยกเลิกก่อนรัฐบาลประกาศห้าม ทั้งยกเลิกไปโดยอัตโนมัติเพราะมาตรการของรัฐ”

 

มะยาเต็งเล่าต่ออย่างติดตลกว่า หลังจากนั้นลูกคู่ในคณะจึงได้กลับบ้านไปอยู่กับลูกกับเมีย ได้ไปปลูกผัก กรีดยาง ซึ่งเป็นอาชีพที่เคยทำๆ กันมา
 

“โควิดก็ทำให้พวกเราได้กลับบ้าน แต่ทีมงานก็ต้องหางานอื่นทำ บางคนที่มีงานประจำทำอยู่ เช่น เป็นพนักงานเทศบาลก็ดีหน่อย แต่บางคนที่เป็นชาวสวนยาง กรีดยาง ขายขี้ยาง ก็อาจจะลำบากหน่อย เพราะเป็นรายได้ทางเดียว”
 

หนังเต็งเล่าด้วยว่า 4 เดือนเต็มที่หยุดโควิด-19 ทำให้ได้เห็นได้ว่า สำหรับเขาและลูกคู่ทั้ง 15 คน หนังตะลุงเป็นสิ่งที่สำคัญในชีวิตขนาดไหน การไม่ได้ออกทำการแสดง ไม่เพียงแต่ทำให้ขาดรายได้เลี้ยงชีพเท่านั้น แต่ยังทำให้ความรู้สึกเรื่องคุณค่าในตัวเองสูญหายไปด้วย

 

“เหมือนกับว่าเราอยู่กับมันมาตลอดชีวิต อย่างผมเองเกินกว่าครึ่งชีวิตแล้วที่คลุกคลีกินอยู่หลับนอนบนโรงหนังตะลุง ไม่เคยรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลย พอหยุดสี่เดือน จึงรู้สึกเบาหวิว เหมือนชีวิตแขวนอยู่ต่องแต่งยังไงไม่รู้”
 

เขาเล่าด้วยว่า ส่วนของลูกคู่เองมีทั้งที่เป็นวัยรุ่นและผู้สูงอายุ ทุกคนมีความรู้สึกคล้ายคลึงกันอย่าง ป๊ะดอ คอเซ็ง มือปี่คู่ใจมะยาเต็งก็เป็นผู้อาวุโสที่เป่าปี่มาอย่างยาวนานร่วม 50 ปี ท่านก็ไม่ได้ทำอาชีพอื่น เป่าปี่อย่างเดียว หรืออย่างลูกคู่วัยรุ่นก็คลุกคลีในคณะมาตั้งแต่เด็ก พอหยุดนานๆ จึงเหมือนกับจับทางไปตัวเองไม่ถูก
 

“มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว โควิดทำให้เรานึกได้ว่า วายังกูลิตเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา เรามีความสุข มีคุณค่า ก็เพราะเสียงหัวเราะและรอยยิ้มของผู้ชม การขยับปากของตัวหนังตะลุง หรือการตีเครื่องดนตรีให้ตัวหนังได้มีชีวิต พอเราถูกโควิดสั่งให้หยุด มันก็เลยเหมือนกับขาดอะไรไปในชีวิต”
 

มะยาเต็งเปรียบเทียบได้อย่างเห็นภาพชัดเจนแจ๋วแหวว
 


เปิดฟ้าใหม่หลังโควิด-19 ใกล้จะผ่านพ้น


 

ครึ่งแรกของเดือนกรกฎาคมต่อเนื่องถึงเดือนสิงหาคม 2563 สัญญาณชีพเริ่มกลับมาเต้นอีกครั้งหนึ่ง มะยาเต็งเล่าว่า เมื่อรัฐบาลประกาศให้สามารถจัดงานประเพณีต่างๆ ได้บ้าง คิวงานแสดงหนังตะลุงก็เริ่มเข้ามา ทั้งในงานแต่งงาน งานทำบุญสุนัต และงานมงคลอื่นๆ แม้ตอนนี้สถานการณ์จะยังไม่ปกติ คิวงานไม่แน่นเหมือนกับก่อนหน้าโควิด-19 แต่ก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้นมาก

“ตอนนี้ก็ไปมันหมดทุกงาน งานญาติ งานพี่น้อง งานเพื่อน ก็ไปช่วยกัน ค่าแรงได้เท่าไหร่ก็ว่ากันไป แต่พอเราได้เล่น ได้แสดง มันเหมือนกับการปลุกจิต ปลุกพลังอะไรบางอย่างในชีวิตเรา ลูกคู่แต่ละคนเห็นได้เลยว่ามีความสุขมากๆ ทุกคนเหมือนมวยได้คืนฟอร์ม”

มะยาเต็งไม่เพียงแต่เป็นนายหนังตะลุงเท่านั้น แต่เขายังเชี่ยวชาญด้านการรำปันจักสีลัต (ท่ารำศิลปะป้องกันตัว) การบรรเลงมะตือรี (ดนตรีบำบัด) และการรักษาผู้ป่วยแบบโบราณอีกด้วย เรียกว่าเป็นนายหนังตะลุงที่มีความสามารถรอบตัวเลยทีเดียว

ด้วยความสามารถเหล่านี้ ทำให้เขามีเครือข่ายสายสัมพันธ์กับผู้คนที่หลากหลาย สายสัมพันธ์ลักษณะนี้มีความหมายมากกับการแสดงหนังตะลุงของเขา เนื่องจากในเวลาต่อมา เมื่อผู้ป่วยหายจากอาการป่วยไข้ ก็รับหนังตะลุงไปฉลอง หรือไม่ก็กลายเป็นสะพานเชื่อมทำให้ชาวบ้านต่างถิ่นรู้จักหนังตะลุงมลายู และให้การสนับสนุนในยามที่มีกิจกรรมมงคลต่างๆ

“มันช่วยหล่อเลี้ยงให้วายังกูลิตมีลมหายใจ เหมือนหายใจต่อไปได้ ตอนโควิดระบาด ชีพจรอ่อนลง แต่ตอนนี้เริ่มกลับมาแล้ว นี่คือมรดกทางวัฒนธรรมของชาวไทยมุสลิม ทำให้เรารู้จักกันได้ดี ประสานความร่วมมือกันได้ดี ไม่จำกัดว่าจะเป็นชาติใด หรือศาสนาไหน เพราะนี่คือศิลปะการแสดง เป็นมรดกของปู่ย่าตายายเรา”

มะยาเต็งมีความสุขกับศิลปะการแสดงพื้นบ้านชนิดนี้ และยืนยันที่จะสร้างเยาวชนรุ่นใหม่ให้หันมาสนใจและตระหนักถึงคุณค่าของมันด้วย เขาเห็นว่าการมองวายังกูลิตเป็นศิลปะการแสดงที่เป็นมรดกของบรรพบุรุษ ทำให้เรามองข้ามความแตกต่างทางศาสนาและชาติพันธุ์ไปได้

“ถึงแม้ว่าคนในชายแดนใต้จะนิยมกันมาก แต่มันก็เป็นมรดกของคนใต้และคนไทยด้วย”

 

หัวหน้าคณะเต็งสาคอ ตะลุงบันเทิง กล่าวตบท้ายอย่างต้องการทิ้งคำพูดไว้ให้ทุกคนต้องนำไปขบคิดต่อ

             

Let's block ads! (Why?)



"ภาคบังคับ" - Google News
August 08, 2020 at 03:27PM
https://ift.tt/3gFOI05

จับชีพจร “หนังตะลุงมลายู” ยุคโควิด-19 ดูสัญญาชีพศิลปะการแสดงพื้นบ้านชายแดนใต้ - ผู้จัดการออนไลน์
"ภาคบังคับ" - Google News
https://ift.tt/2YaK1os
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
https://koi.prelol.com/

Bagikan Berita Ini

0 Response to "จับชีพจร “หนังตะลุงมลายู” ยุคโควิด-19 ดูสัญญาชีพศิลปะการแสดงพื้นบ้านชายแดนใต้ - ผู้จัดการออนไลน์"

Post a Comment

Powered by Blogger.