ตอนสงครามเกาหลียุติลงในปี 1953 มีเชลยสงครามชาวเกาหลีใต้ราว 50,000 คน ถูกควบคุมตัวอยู่ในเกาหลีเหนือ พวกเขาจำนวนมากถูกบังคับใช้แรงงาน บางคนถูกสังหาร ปัจจุบัน ลูก ๆ ของเชลยสงครามเหล่านี้กำลังต่อสู้เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลเกาหลีใต้ ซูบิน คิม จากบีบีซีภาคภาษาเกาหลี มีรายงาน
ไม่ว่าจะพยายามนึกแค่ไหน ลี ก็นึกไม่ออกว่า เกิดอะไรขึ้นหลังจากเพชฌฆาตเหนี่ยวไกปืน 3 นัด สังหารพ่อและพี่ชายของเธอ เมื่อ 30 ปีก่อน ในช่วงที่เธออยู่ในวัย 30 ปีเศษ
เธอจำได้แต่เหตุการณ์ก่อนหน้านั้นว่า เจ้าหน้าที่ความมั่นคงลากตัวเธอไปยังสนามกีฬาในหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารของเกาหลีเหนือชื่อว่า อาโอจี (Aoji) เธอถูกบังคับให้นั่งอยู่ใต้สะพานไม้ รอคอยอะไรบางอย่างที่เธอเองก็ไม่รู้ว่า จะเกิดอะไรขึ้น
ฝูงชนเริ่มมากขึ้น แล้วรถบรรทุกคันหนึ่งก็ถูกลากเข้ามา มีคน 2 คน ถูกนำตัวออกมาจากรถบรรทุกคันนั้น พวกเขาคือพ่อและพี่ชายของเธอเอง
"พวกเขามัดพ่อกับพี่ชายฉันไว้กับเสา แล้วก็เรียกพ่อกับพี่ชายฉันว่า กบฏของชาติ สายลับ แล้วก็พวกฝ่ายขวา" ลี บอกกับ บีบีซีในการให้สัมภาษณ์เมื่อไม่นานนี้ จากนั้นเธอก็เริ่มจำเหตุการณ์ได้ไม่ชัดนัก "ฉันคิดว่า ฉันกำลังกรีดร้องอยู่" เธอเล่า "ขากรรไกรฉันหลุด เพื่อนบ้านต้องพาฉันกลับบ้าน มาแก้อาการขากรรไกรเคลื่อน"
เชลยที่ถูกลืมเลือน
พ่อของลี เป็นหนึ่งในอดีตเชลยสงคราม 50,000 คน ที่ถูกควบคุมตัวไว้ในเกาหลีเหนือหลังจากสงครามเกาหลียุติลง อดีตเชลยเหล่านี้ถูกส่งให้ไปเข้าร่วมกับหน่วยทหารของเกาหลีเหนืออย่างไม่เต็มใจ และถูกบังคับให้ทำงานตามโครงการก่อสร้างต่าง ๆ หรือไม่ก็ทำเหมืองตลอดทั้งชีวิตที่เหลืออยู่
ตอนที่มีการลงนามในข้อตกลงหยุดยิงเมื่อวันที่ 27 ก.ค. 1953 ทหารเกาหลีใต้นึกว่า จะมีการแลกเปลี่ยนตัวเชลย และพวกเขาจะถูกส่งตัวกลับบ้าน แต่หนึ่งเดือนก่อนที่จะมีการลงนามนี้ ประธานาธิบดีอี ซึงมัน ของเกาหลีใต้ในขณะนั้น ได้ปล่อยตัวเชลยเกาหลีเหนือกว่า 25,000 คน แต่เพียงฝ่ายเดียว เพื่อทำให้ข้อตกลงหยุดยิงล้มเหลว เขาต้องการให้กองกำลังสหประชาชาติช่วยให้เขารวมชาติให้อยู่ภายใต้เกาหลีใต้ให้สำเร็จ หลายคนเชื่อว่า การกระทำเช่นนี้ของเขา ทำให้การส่งตัวเชลยเกาหลีใต้กลับประเทศยากยิ่งขึ้น
เกาหลีเหนือส่งคืนเชลยที่จับตัวไว้เพียงแค่กลุ่มเล็ก ๆ เท่านั้น
ไม่นานหลังจากนั้น เกาหลีใต้ก็ลืมเชลยสงครามเหล่านี้ นับแต่นั้นเป็นต้นมา มีประธานาธิบดีเกาหลีใต้ 3 คน หารือกับผู้นำเกาหลีเหนือ แต่ก็ไม่เคยยกเรื่องเชลยสงครามมาหารือกันเลย
ในเกาหลีเหนือ ครอบครัวของลี ถูกมองว่าเป็น ของตกค้าง พ่อของลีเกิดในเกาหลีใต้ และได้ร่วมกับกองกำลังสหประชาชาติสู้รบในสงครามต่อต้านเกาหลีเหนือ นั่นคือรอยด่างของเขา สถานะทางสังคมที่ต่ำต้อยของครอบครัวลี ทำให้พวกเขาถูกผลักไสให้ทำงานที่ต้องใช้แรงงานหนัก แล้วก็ไม่มีโอกาสลืมตาอ้าปาก พ่อและพี่ชายของลี ทำงานที่เหมืองถ่านหินหลายแห่ง ซึ่งมักจะเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้คนล้มตายเป็นเรื่องปกติ
พ่อของลี ฝันว่าจะได้กลับบ้านในสักวันหนึ่ง ตอนที่กลับมารวมประเทศกันอีกครั้ง หลังทำงานเสร็จ เขาจะเล่าให้ลูก ๆ ฟังถึงเรื่องราวสมัยเด็ก บางครั้ง เขาก็ยุให้ลูก ๆ หนีไปเกาหลีใต้ เขาบอกกับลูกว่า "จะมีเหรียญที่มอบให้พ่อ แล้วลูกก็จะได้รับการปฏิบัติเฉกเช่นลูกของวีรบุรุษ"
แต่พี่ชายของลี ได้เผลอหลุดปากเล่าเรื่องที่พ่อพูด ขณะดื่มกับเพื่อน ๆ ในวันหนึ่ง เพื่อนคนหนึ่งในกลุ่มได้แจ้งเรื่องนี้แก่เจ้าหน้าที่ทางการ ภายในเวลาไม่กี่เดือน พ่อและพี่ชายของลีก็ต้องสังเวยชีวิต
ในปี 2004 ลี สามารถหนีมาอยู่เกาหลีใต้ได้ ตอนนั้นเองที่เธอได้ตระหนักถึงความเข้าใจผิดของพ่อ เกาหลีใต้ไม่ได้เห็นเขาเป็นวีรบุรุษ แทบไม่มีการช่วยเหลือเชลยสงครามให้กลับบ้านเลย
ทหารที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในเกาหลีเหนือทนทุกข์ทรมาน พวกเขาถูกมองว่าเป็นศัตรูของชาติ เป็นคนที่เคยสู้รบให้กับ "กองทัพหุ่นเชิด" และถูกกำหนดให้มีชนชั้นทางสังคมที่ต่ำที่สุดของเกาหลีเหนือ นั่นก็คือ "ซองบุน" (songbun)
สถานะนี้ถูกส่งต่อกันทางสายเลือด ดังนั้นลูก ๆ ของคนเหล่านี้จะไม่ได้โอกาสได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น หรือเสรีภาพในการเลือกอาชีพการงาน
ชอย เคยเป็นนักเรียนดีเด่น แต่ความฝันของเธอในการเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยไม่สามารถเป็นไปได้ เพราะสถานะของพ่อเธอ เธอเคยตวาดใส่พ่อ "พ่อเป็นพวกสวะฝ่ายขวา ทำไมถึงไม่กลับประเทศของพ่อไป"
พ่อของเธอไม่ได้ขึ้นเสียงกลับ แต่กล่าวกับเธออย่างหดหู่ใจว่า ประเทศอ่อนแอเกินกว่าที่จะพาพวกเขากลับประเทศได้ 8 ปีก่อน ชอย ทิ้งครอบครัวของเธอและหนีเข้าไปเกาหลีใต้
"พ่อของฉันอยากจะมาที่นี่" เธอกล่าว "ฉันอยากจะมาในที่ที่คนที่ฉันรักที่สุดในชีวิตอยากจะมาแต่มาไม่ได้ นั่นคือเหตุผลที่ฉันทิ้งลูกชาย ลูกสาว และสามี มา"
ตอนนี้ พ่อของชอยเสียชีวิตแล้ว และตามเอกสารในเกาหลีใต้ เธอไม่มีพ่อ เพราะเอกสารทางการระบุว่า พ่อของเธอเสียชีวิตระหว่างร่วมทำสงคราม
นำกระดูกพ่อกลับบ้านเกิด
ซอน เมียง-ฮวา ยังคงจำคำสั่งเสียของพ่อขณะที่นอนอยู่บนเตียงเมื่อ 40 ปีก่อนได้แม่น "ถ้าลูกได้กลับไปเกาหลีใต้ ลูกต้องเอากระดูกของพ่อกลับไปด้วย แล้วฝังพ่อไว้ในที่ที่พ่อเกิด"
พ่อของซอน เป็นทหารเกาหลีใต้ที่มาจากเมืองกิมแฮ ห่างจากเมืองปูซานราว 18 กิโลเมตร ช่วงที่อยู่ในเกาหลีเหนือ เขาถูกบังคับให้ทำงานตามเหมืองถ่านหินหลายแห่ง และโรงงานทำไม้แห่งหนึ่ง เป็นเวลานานหลายสิบปี และได้รับอนุญาตให้กลับบ้านได้เพียง 10 วัน ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง
เขาบอกกับ ซอน ว่า "การต้องตายที่นี่โดยไม่ได้เจอหน้าพ่อแม่อีกครั้ง เป็นเรื่องที่ขมขื่นมาก หากได้ถูกฝังที่นั่นคงจะดีนะ"
ซอน แปรพักตร์ในปี 2005 แต่ต้องใช้เวลาถึง 8 ปีกว่าที่จะนำกระดูกของพ่อออกมาจากเกาหลีเหนือได้ เธอขอให้พี่น้องของเธอช่วยกันขุดศพของพ่อขึ้นมาและส่งให้นายหน้าในจีน จำเป็นต้องใช้กระเป๋าเดินทาง 3 ใบ เพื่อนของซอน 2 คนไปกับเธอด้วย แต่ซอนเป็นผู้ที่ขนหัวกะโหลกของพ่อ
ซอน ต่อสู้นานกว่า 1 ปีเพื่อให้มีการยอมรับสถานะของพ่อเธอว่า เป็นทหารที่ไม่ได้รับการนำตัวกลับประเทศ และสุดท้ายเธอก็สามารถนำกระดูกของพ่อไปฝังที่สุสานแห่งชาติได้ในปี 2015
"ฉันคิดว่า ในที่สุดฉันก็ได้ทำหน้าที่ลูกสาวคนหนึ่งได้อย่างสมบูรณ์" เธอกล่าว "แต่ฉันรู้สึกเศร้ามาก เวลาที่นึกถึงพ่อช่วงที่หมดลมหายใจที่นั่น"
ซอน ค้นพบในเวลาต่อมาว่า ครอบครัวของเธอต้องชดใช้เรื่องการขุดศพของพ่อขึ้นมาอย่างแสนสาหัส พี่น้องของเธอในเกาหลีเหนือถูกส่งตัวไปเข้าเรือนจำการเมือง
ปัจจุบัน ซอน เป็นหัวหน้าสมาคมครอบครัวเชลยสงครามเกาหลี (Korean War POW Family Association) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต่อสู้เพื่อให้มีการปฏิบัติที่ดีขึ้นต่อครอบครัวของทหารเกาหลีใต้ที่ไม่ได้กลับมาบ้าน 110 ครอบครัว
จากการตรวจสารพันธุกรรม ซอนสามารถพิสูจน์ได้ว่า เธอเป็นลูกสาวของพ่อเธอจริง ๆ ซึ่งเรื่องนี้สำคัญสำหรับเธอมาก ในการยื่นคำร้องของรับเงินเดือนที่ยังไม่ได้รับของพ่อจากทางการเกาหลีใต้ แม้ว่าเชลยสงครามเหล่านี้จะสามารถหนีกลับมาเกาหลีใต้ได้ ลูก ๆ ของพวกเขาก็ไม่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ และเชลยที่ติดอยู่ในเกาหลีเหนือจำนวนมากก็ถูกระบุว่า เสียชีวิตแล้ว หรือถูกปลดประจำการระหว่างสงคราม หรือไม่ก็สูญหาย
มีเชลยสงครามเพียงไม่กี่คนที่สามารถหลบหนีกลับเข้าไปในเกาหลีใต้ได้รับเงินเดือนที่ยังไม่ได้ในส่วนนี้ และเชลยที่เสียชีวิตระหว่างการถูกควบคุมตัวในเกาหลีเหนือ ก็ไม่มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยใด ๆ
เมื่อเดือน ม.ค. ซอนและทนายความได้ยื่นฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ครอบครัวของนักโทษสงครามที่เสียชีวิตในเกาหลีเหนือได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมและ รัฐบาลไม่ได้ทำอะไรเพื่อนำตัวพวกเขากลับประเทศ และให้รัฐบาลรับผิดชอบต่อเชลยที่ไม่เคยได้กลับเข้ามาในเกาหลีใต้
"เราเศร้าใจที่เกิดเป็นลูกของเชลย และยิ่งรู้สึกเจ็บปวดมากไปอีกเมื่อถูกเพิกเฉย แม้กระทั่งในช่วงที่เข้ามาในเกาหลีใต้แล้ว" ซอน กล่าว
"ถ้าเราไม่สามารถกอบกู้เกียรติยศของพ่อพวกเรากลับคืนมาได้ ชีวิตที่อดสูของเชลยสงครามและลูกของพวกเขาก็คงจะถูกลืมเลือนไปจนหมด"
ชื่อบางชื่อเป็นชื่อสมมุติเพื่อความปลอดภัยของเจ้าของเรื่อง ภาพวาดโดยเดวีส์ ซูร์ยา
"ภาคบังคับ" - Google News
July 28, 2020 at 08:33AM
https://ift.tt/2CWV0to
สงครามเกาหลี : หัวอกลูกของเชลยสงครามที่ทางการเกาหลีใต้ลืมเลือนและทอดทิ้งในเกาหลีเหนือ - บีบีซีไทย
"ภาคบังคับ" - Google News
https://ift.tt/2YaK1os
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
https://koi.prelol.com/
Bagikan Berita Ini
0 Response to "สงครามเกาหลี : หัวอกลูกของเชลยสงครามที่ทางการเกาหลีใต้ลืมเลือนและทอดทิ้งในเกาหลีเหนือ - บีบีซีไทย"
Post a Comment