Search

รุกไปอีกขั้น!!! เตรียมแก้ไขกฎหมาย“ยกเลิก” บทเฉพาะกาล 5 ปี “กัญชาผูกขาดเฉพาะภาครัฐ” / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ - ผู้จัดการออนไลน์

koi.prelol.com


"ณ บ้านพระอาทิตย์"
"ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์"

ปัญหาที่สำคัญประการหนึ่งต่อกรณีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๗) พ.ศ.๒๕๖๒ ที่กำหนดบทเฉพาะกาล 5 ปีให้กิจกรรมการผลิต การนำเข้า การปลูกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์อยู่กับภาครัฐเท่านั้น หรือถ้าเป็นเอกชนก็ต้องร่วมกับรัฐ นับตั้งแต่กฎหมายฉบับดังกล่าวนี้บังคับใช้ความว่า:

“มาตรา ๒๑ ในวาระเริ่มแรกภายในระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ การขอรับใบอนุญาต ผลิต นำเข้า หรือส่งออก ซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท ๕ เฉพาะกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์หรือการรักษาผู้ป่วยตามมาตรา ๒๖/๒ (๑) [หมายถึงเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ศึกษา วิจัยซึ่งได้ความเห็นชอบของคณะกรรมการยาเสพติด] แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้อนุญาตได้เฉพาะกรณีที่ผู้ขออนุญาตเป็นหน่วยงานของรัฐตาม มาตรา ๒๖/๕ (๑) [หมายถึงหน่วยงานของรัฐที่กฎหมายกำหนด] แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ หรือเป็นผู้ขออนุญาตตาม มาตรา ๒๖/๕ (๒) [หมายถึงผู้ประกอบวิชาชีพโรคศิลปะที่กฎหมายกำหนด] (๓) [หมายถึงมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีสอนแพทย์และเภสัช] (๔) [หมายถึงวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรรม] หรือ (๗) [หมายถึงผู้ขออนุญาตอื่นตามที่รัฐมนตรีโดยคณะกรรมการยาเสพติดกำหนด] แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งดำเนินการร่วมกับผู้ขออนุญาตที่เป็นหน่วยงานของรัฐตาม มาตรา ๒๖/๕ (๑) [หมายถึงหน่วยงานของรัฐที่กฎหมายกำหนด] แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้” [1]

โดยสรุปก็คือการกำหนดบทเฉพาะกาลใน 5 ปีนับตั้งแต่กฎหมายฉบับดังกล่าวนี้บังคับใช้ว่า การปลูก การผลิต การนำเข้า และส่งออกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์นั้นจะต้องกระทำโดยภาครัฐ หรือหากเป็นเอกชนก็จะต้องร่วมกับรัฐเท่านั้น หรือเพื่อให้เข้าใจโดยง่ายคือ “รัฐขอผูกขาด หรือเปิดโอกาสให้เอกชนร่วมผูกขาดได้เฉพาะการร่วมกับรัฐ ในการปลูก ผลิต นำเข้า ส่งออกเป็นเวลา 5 ปี”

อย่างไรก็ตามแม้มาตรา ๒๑ วรรคแรกที่กำหนดบทเฉพาะกาลให้กิจกรรม “ปลูก ผลิต นำเข้า ส่งออก” กัญชา ถูกผูกขาดอยู่กับภาครัฐหรือเอกชนร่วมกับรัฐเท่านั้น แต่ก็ “ดูเสมือนว่าจะมีข้อยกเว้นให้ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทยและหมอพื้นบ้าน” และผู้ป่วยที่เดินทางจากต่างประเทศตามข้อเรียกร้องของภาคประชาสังคมความว่า:

“ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับแก่กรณีดังต่อไปนี้

(๑) การขอรับใบอนุญาต ผลิต ยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ เฉพาะกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์หรือการรักษาผู้ป่วยตาม มาตรา ๒๖/๒ (๑) [หมายถึงเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ศึกษา วิจัยซึ่งได้ความเห็นชอบของคณะกรรมการยาเสพติด] แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ตามมาตรา ๒๖/๕ (๒) [หมายถึงผู้ประกอบวิชาชีพโรคศิลปะที่กฎหมายกำหนด] แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งเป็นการปรุงยาสำหรับคนไข้เฉพาะรายซึ่งตนเองเป็นผู้ให้การรักษา

(๒) การขอรับใบอนุญาตนำเข้าหรือส่งออกยาเสพติดให้โทษประเภท ๕ เฉพาะกัญชาตามมาตรา ๒๖/๒ [หมายถึงผู้ประกอบวิชาชีพโรคศิลปะที่กฎหมายกำหนด] แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตเป็นผู้ป่วยเดินทางระหว่างประเทศตามมาตรา ๒๖/๕ (๖) แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้

ให้คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษประเมินผลมาตรการตามวรรคหนึ่งทุกหกเดือน ในกรณีที่เห็นสมควรปรับปรุงหลักเกณฑ์การอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษดำเนินการได้ตามความเหมาะสม ทั้งนี้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา” [1]

แม้ว่าบทเฉพาะกาลดังกล่าวข้างต้นได้ยกเว้นอนุญาต “การผลิต” กัญชา สำหรับแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้าน (ทั้งรัฐและเอกชน)เพื่อการสกัดหรือปรุงยาให้คนไข้เฉพาะรายได้ แต่ก็ยังไม่อนุญาตให้ผู้ประกอบวิชาชีพเหล่านี้ มีวัตถุดิบด้วยการ “ปลูก”เพื่อปรุงยาเฉพาะรายในคลินิกได้ เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้าน ไม่มีวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ที่รัฐจัดให้ ก็ไม่สามารถที่จะหากัญชามาผลิตเพื่อปรุงยาเฉพาะรายจำหน่ายให้คนไข้อย่างถูกกฎหมายได้อยู่ดี

แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้านหลายท่าน รวมถึงคลินิกแพทย์แผนไทย คลินิกแพทย์แผนไทยประยุกต์หลายแห่งที่ได้รับใบอนุญาตให้จำหน่ายกัญชาแล้ว กลับไม่ได้รับใบอนุญาตให้ครอบครองกัญชาตามมาด้วย ก็เพราะไม่มีกัญชาแม้แต่ช่อเดียวเพื่อขอใบอนุญาตเพื่อปลูกและผลิตกัญชาเช่นกัน ครั้นจะขออนุญาตปลูกในฐานะเกษตรกรก็ต้องร่วมกับภาครัฐ และรัฐเมื่อปลูกแล้วก็จำกัดการผลิตเอาไว้ให้กับการจำหน่ายกัญชาให้กับโรงพยาบาลภาครัฐอีก การผลิตในคลินิกของแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้านในภาคเอกชนจึงไม่เคยเกิดขึ้นจริงได้อย่างเป็นรูปธรรม

การออกใบอนุญาตเช่นนี้ ย่อมแสดงให้เห็นถึงการบริหารจัดการที่ไม่อยู่บนโลกแห่งความเป็นจริง ไม่มีความไว้วางใจและไม่มีความจริงใจ ต่อผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้าน เพื่อให้ชาวบ้านสามารถเข้าถึงการใช้กัญชาอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้

การจำกัดแทบทุกกิจกรรมผูกขาดเอาไว้กับภาครัฐทำให้แพทย์แผนปัจจุบันที่มีโอกาสจะใช้กัญชาอย่างถูกต้องตามกฎหมายนั้น ล้วนแล้วแต่อยู่ในโรงพยาบาลภาครัฐทั้งสิ้น คนส่วนใหญ่เหล่านี้ไม่พร้อมใช้กัญชาในโรงพยาบาล เพราะไม่ต้องการดำเนินการด้วยกฎกติกาที่มีความยุ่งยากในโรงพยาบาลภาครัฐที่แออัดด้วยผู้ป่วยจำนวนมาก ยังไม่นับว่าผลประโยชน์ของบริษัทยาบางแห่งที่วิ่งเต้นไม่ให้ใช้กัญชามาทดแทนยาของตัวเอง อีกทั้งแพทย์ทั้งหลายก็ไม่อยากขัดแย้งกับผู้ใหญ่ในวงการแพทย์วิชาชีพ เดียวกัน ดังนั้นการใช้กัญชาให้กับแพทย์แผนปัจจุบันในโรงพยาบาลภาครัฐจึงอยู่ภายใต้กรอบข้อบ่งใช้ที่จำกัดคับแคบตามเอกสารที่รัฐกำหนดมาเท่านั้น

ความจริงที่เป็นไปข้างต้นคือสาเหตุว่าทำไมโรงพยาบาลภาครัฐที่ได้กัญชาหรือน้ำมันกัญชามาจากภาครัฐ จึงไม่ถูกนำไปจำหน่ายให้ผู้ป่วยที่กำลังรอคอยอยู่เป็นจำนวนมาก และส่งผลทำให้ผู้ป่วยต้องไปใช้น้ำมันกัญชาใต้ดินต่อไป น้ำมันกัญชาที่ถูกจำหน่ายไปโรงพยาบาลภาครัฐจึงเหลือในคงคลังจำนวนมาก และทยอยหมดอายุลงบนความเสียหายของงบประมาณแผ่นดินของประเทศชาติอย่างน่าเสียดายยิ่ง

ไม่ได้แปลว่าแพทย์แผนปัจจุบันไม่กล้าใช้กัญชา เพราะในความเป็นจริงแล้วมีแพทย์แผนปัจจุบันหลายท่านได้แอบจำหน่ายกัญชาอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมายอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่กฎหมายที่มีบทเฉพาะกาลผูกขาดโดยรัฐเช่นนี้ทำให้กัญชาของรัฐในเวลานี้ส่งมอบให้ “ผิดฝา ผิดตัว”

ผู้ที่ต้องการจำหน่ายกัญชาให้คนไข้กลับไม่มีกัญชาถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนผู้ที่มีกัญชาถูกต้องตามกฎหมายกลับไม่ต้องการจำหน่ายกัญชาให้กับคนไข้ !!!

ส่วน แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้าน ซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพที่มีโอกาสจะใช้กัญชาจำหน่ายให้กับคนไข้มากที่สุดเพราะใช้ตามสรรพคุณเภสัชและรสยาจากสมุนไพรนั้น ส่วนใหญ่ของผู้ประกอบวิชาชีพกลุ่มนี้ก็คือภาคเอกชน และเมื่อผูกขาดอยู่กับ “ภาครัฐ” แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้าน “ในโรงพยาบาลภาครัฐ” ซึ่งมีจำนวนน้อยมากในโรงพยาบาลภาครัฐ ย่อมถูกครอบงำและจำกัดการใช้โดยแพทย์แผนปัจจุบันในระบบราชการอีกเช่นกัน

ยังไม่นับว่าหากนำผลิตภัณฑ์กัญชาของผู้ป่วยที่ต้องการสาร THC ซึ่งออกฤทธิ์ทางจิตประสาทความเข้มข้นสูง เพื่อลดอาการปวด หรือทำให้หลับในผู้ป่วยหนัก ก็ยังไม่ปรากฏว่ามีผลิตภัณฑ์ของรัฐที่มีลักษณะตามความต้องการของประชาชนเช่นนั้น เมื่อผลิตภัณฑ์ของรัฐไม่สามารถตอบสนองความเป็นจริงของผู้ป่วยได้ ผู้ป่วยก็ยังคงแสวงหากัญชาใต้ดินเพื่อนำมาใช้โดยยอมเสี่ยงกระทำความผิดกฎหมายเพื่อลดความทรมานของผู้ป่วยต่อไป

ผลที่ตามมาตั้งแต่กฎหมายดังกล่าวประกาศบังคับใช้คือ

ประการแรก ผลิตภัณฑ์กัญชาที่ใช้งบประมาณของภาครัฐเหลือคงค้างจำนวนมาก ทั้งๆที่ผู้ป่วยแอบใช้น้ำมันกัญชาใต้ดินจำนวนมาก และความเข้มข้นของบางผลิตภัณฑ์ หลักเกณฑ์ขั้นตอนและข้อบ่งใช้ไม่สามารถตอบสนองความต้องการใช้ของผู้ป่วยได้ครอบคลุมจริง

ประการที่สอง แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้าน รวมถึงคลินิกของผู้ประกอบวิชาชีพเหล่านี้ซึ่งได้รับใบอนุญาตให้จำหน่าย แต่ไม่ได้รับใบอนุญาตให้ปลูก ผลิต และครอบครอง ทำให้ไม่มีวัตถุดิบ จึงไม่สามารถปรุงยาเฉพาะรายให้ผู้ป่วยได้ถูกต้องตามกฎหมาย

ประสารที่สาม เกษตรกร หรือกลุ่มบุคคลที่ต้องวิ่งเต้นกับภาครัฐเพื่อปลูกกัญชา กลับไม่มีความชัดเจนว่ารัฐจะซื้อไปในปริมาณและราคาเท่าไหร่ อย่างไร และจะขายให้ใคร เพราะแม้จะมีคลินิกและโรงพยาบาลภาคเอกชนจะมีความต้องการซื้อจากเกษตรกร รัฐกลับขวางเอาไว้ให้ผูกขาดการจำหน่ายจริงเฉพาะภาครัฐเท่านั้น ทำให้ผู้ที่ต้องการซื้อและผู้ที่ต้องการขาย “เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์” ไม่สามารถมาโคจรพบกันเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้จริง ด้วยเพราะภาครัฐอาศัยข้อกฎหมาย และกติกาขัดขวางเอาไว้

ประการที่สี่ การรวมศูนย์อำนาจในการตัดสินใจทุกใบอนุญาตอยู่ที่คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษเพียงคณะเดียว ซึ่งมีผู้คนเกี่ยวข้องจำนวนมากเกินไป (ทั้งส่วนปราบปรามขัดขวางการใช้กัญชารวมอยู่ด้วย) ทำให้มีการออกกฎกติกามากเกินความจำเป็น ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ทำให้การยื่นคำขอใบอนุญาตติดค้างเป็นคอขวดจำนวนมาก

ประการที่ห้า ด้วยสถานการณ์ที่ภาครัฐกำหนดกติกาที่ไม่สอดคล้องความเป็นจริง ประกอบกับความรับรู้ประโยชน์ของการใช้กัญชาในประเทศไทยเป็นไปอย่างแพร่หลายและกว้างขวางเป็นการทั่วไป ส่งผลทำให้เกิดการลักลอบ ปลูก ผลิต และจำหน่ายกัญชาอย่างผิดกฎหมายยังคงดำเนินต่อไป เพราะรัฐที่ดำเนินนโยบายผูกขาดจึงปราศจากการแข่งขันและการพัฒนาไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยและประชาชนได้อย่างแท้จริง ส่งผลทำให้มีผู้ถูกจับกุมแม้ปลูกกัญชาเพียงต้นเดียวเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ยังไม่นับการฉวยโอกาสของเจ้าหน้าที่รัฐในการตบทรัพย์จากผู้ที่เกี่ยวกับกัญชาแม้จะใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ก็ตาม สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนไปทุกหย่อมหญ้า

ประการที่หก เมื่อกัญชาถูกจับเป็นจำนวนมากขึ้น เพราะมีความต้องการของผู้ป่วยมากขึ้น ส่งผลทำให้การตรวจยึดกัญชาเป็นของกลางเพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด เมื่อภาครัฐไม่จำหน่ายกัญชาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทำให้ของกลางเหล่านี้ทยอยหมดอายุหรือเสียหายมากขึ้น และเมื่อทิ้งไว้นานมากขึ้นก็ต้องมีการทำลายโดยไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้

“นโยบายเสรีกัญชา ปลูกได้ 6 ต้นทุกครัวเรือน” ซึ่งเคยสร้างปรากฏการณ์ให้พรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคการเมืองเก่าเพียงพรรคเดียวที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ถึงขนาดที่เรียกว่านายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเคยมีคะแนนนิยมสูงกว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในช่วงแรกๆเสียด้วยซ้ำ แต่เมื่อเวลาผ่านไปเมื่อไม่สามารถนำไปสู่ความสำเร็จตามสัญญาได้ ก็ส่งผลทำให้คะแนนนิยมต่อพรรคภูมิใจไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง จนในช่วงหลังคะแนนนิยมต่อนายอนุทิน ชาญวีรกูล แทบจะไม่ติดอันดับต้นๆของรัฐบาลอีกต่อไปแล้ว


จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.)
จึงได้นำ ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่...) พ.ศ..... เข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนระหว่างวันที่ 26 พฤษภาคม ถึงวันที่ 9 มิถุนายน 2563 [2] ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าทางภาครัฐได้รับรู้สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจริงระดับหนึ่ง โดยปรากฏบันทึก “เหตุผล” ของการแก้ไขเพิ่มเติมดังนี้

“ด้วยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๖๒ ซึ่งเปิดโอกาสให้ประเทศไทย ใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และการศึกษาวิจัยและพัฒนา ได้มีผลใช้บังคับมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว พบปัญหาในขั้นตอนกระบวนการขออนุญาตและการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของประชาชนที่ต้องการใช้กัญชาเพื่อรักษาโรค

ดังนั้นเพื่อให้ผู้ป่วยที่ได้รับการรับรองจากผู้ประกอบวิชาชีพสามารถเข้าถึงการใช้กัญชา ทางการแพทย์ได้อย่างทั่วถึง และเพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาองค์ความรู้ และต่อยอดกัญชา ทางการแพทย์เพื่อประโยชน์ของประชาชนตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๖๒ ประกอบกับ ปัจจุบันมีการตรวจยึดยาเสพติดให้โทษของกลางไว้เป็นจำนวนมากและต้องเก็บ รักษาไว้เป็นเวลานานจึงจะสามารถนำไปทำลายหรือนำไปใช้ประโยชน์ได้ ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณและสถานที่ในการเก็บรักษา เห็นสมควรปรับปรุงบทบัญญัติให้สามารถนำยาเสพติดให้โทษของกลางไปทำลายหรือ นำไปใช้ประโยชน์ได้เร็วขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติฉบับนี้

๑. เพื่อให้ผู้ป่วยที่ได้รับการรับรองจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์ แผนไทย หรือผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์ แผนไทย ปลูกและใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ในการรักษาโรคและประโยชน์ในทางการแพทย์ได้ สามารถเข้าถึงการใช้ กัญชาทางการแพทย์ได้อย่างทั่วถึง และให้การอนุญาตเป็นไปด้วยความสะดวก และรวดเร็ว (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๒๖/๒ และ มาตรา ๒๖/๕)

๒. เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการเกี่ยวกับการผลิตด้านเกษตรกรรมสามารถร่วมผลิตและพัฒนา สูตรตำรับยาแผนโบราณหรือยาสมุนไพรได้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ภายใต้ความร่วมมือและกำกับดูแล ของผู้รับอนุญาตผลิตซึ่งยาแผนปัจจุบันตามกฎหมายว่าด้วยยา หรือผู้รับอนุญาตผลิตซึ่งยาแผนโบราณ ตามกฎหมายว่าด้วยยา หรือผู้รับอนุญาตผลิตซึ่งผลิตภัณฑ์สมุนไพรตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์สมุนไพร ขออนุญาตเกี่ยวกับกัญชาได้ (แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา ๒๖/๕)

๓. แก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับหน้าที่ของผู้รับอนุญาตผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ ซึ่งเป็น ผู้ป่วยที่ได้รับการรับรองจากผู้ประกอบวิชาชีพฯ ให้สามารถกระทำได้ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๓๔/๑)

๔. แก้ไขปัญหาในกระบวนการเก็บรักษาและทำลายยาเสพติดให้โทษของกลาง โดยเมื่อได้ มีการตรวจพิสูจน์ชนิดและปริมาณแล้วว่าเป็นยาเสพติดให้ให้โทษ ให้บันทึกรายงานการตรวจพิสูจน์ไว้ ให้กระทรวงสาธารณสุขหรือผู้ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมอบหมายทาลายหรือนำไปใช้ประโยชน์ได้ตามระเบียบ ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด (แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา ๑๐๑ , ๑๐๑ ทวิ และ ๑๐๒ ทวิ)” [3]
แม้ว่าร่างกฎหมายแก้ไข พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษจะปรับปรุงแก้ไขให้อยู่บนความเป็นจริงมากขึ้น โดยให้น้ำหนักไปที่ “ผู้ผลิต” ยาแผนปัจจุบัน และยาแผนโบราณ โดยการอนุญาตจากองค์การอาหารและยา ให้เป็นตัวกำหนดและควบคุมการปลูก และการส่งต่อให้สถานประกอบการของภาครัฐและเอกชน แม้จะยังมีข้อถกเถียงอีกพอสมควรระหว่างบทบาทการผลิตด้วยการการปรุงยาเฉพาะรายในคลินิกแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบาท กับโรงงานผลิตยาแผนโบราณ (ซึ่งนับวันก็มีมาตรฐานสูงขึ้นจนถูกชี้นำตลาดด้วยผู้ผลิตเพียงไม่กี่ราย)จะดำเนินไปอย่างไร และจะเป็นการเอื้อประโยชน์กับกลุ่มทุนหรือไม่?

แต่สิ่งที่มีความก้าวหน้าและทลายอุปสรรคอันสำคัญประการหนึ่งของร่างนี้ก็คือ “การยกเลิกมาตรา 21 ” ซึ่งเท่ากับเป็นการบทเฉพาะกาลการนำเข้า ผลิต และส่งออก ที่ผูกขาดโดยรัฐ หรือเอกชนร่วมกับรัฐเป็นเวลา 5 ปีออกไปอย่างชัดเจนที่สุด ด้วยข้อความร่างดังกล่าวความว่า

“มาตรา ๗ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๑ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๖๒ และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน


มาตรา ๒๑ ในวาระเริ่มแรกภายในระยะเวลา ๕ ปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๖๒ นี้ใช้บังคับ การอนุญาตนำเข้ายาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ เฉพาะกัญชา เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และการรักษาผู้ป่วยตามมาตรา ๒๖/๒ (๑) [หมายถึงเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ศึกษา วิจัยซึ่งได้ความเห็นชอบของคณะกรรมการยาเสพติด] แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติด ให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๖๒ ให้ดำเนินการนำเข้าได้เฉพาะเมล็ดพันธุ์เพื่อนำมาผลิตโดยการปลูก” [3]

กล่าวโดยสรุปหากมีการแก้ไขให้เป็นไปตามร่างฉบับนี้ก็คือ

ประการแรก การนำเข้า การปลูก การผลิต และการส่งออก ไม่ต้องผูกขาดโดยภาครัฐอีกต่อไป และเอกชนสามารถดำเนินการได้โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ

ประการที่สอง ยังคงเหลือบทเฉพาะกาล 5 ปี กรณี “การนำเข้ากัญชา” (มีสาร THC สูงกว่า 1%) ให้นำเข้าจากต่างประเทศได้เฉพาะเมล็ดพันธุ์เพื่อนำมาผลิตโดยการปลูกเท่านั้น

แม้จะมีการแก้ไขที่มีการพัฒนามากขึ้นกว่าเดิม แต่ร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกัญชานั้นมีอยู่หลายฉบับค้างอยู่ในรัฐสภา แต่ยังไม่มีความคืบหน้าว่าจะเข้าสู่วาระของการประชุมเมื่อไหร่ อย่างไร หรือจะเป็นการถ่วงเวลา นั่งทับไว้ไม่ให้พรรคไหนได้คะแนนเสียงหรือไม่ หรือแท้ที่จริงฝ่ายการเมืองไม่จริงใจกับประชาชนหรือไม่ ประชาชนก็ควรจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต

อ้างอิง :
[1] พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๖๒, ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๑๓๖ ตอนที่ ๑๙ ก ลงวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
https://ift.tt/2W66tgD

[2] รายงานสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นร่าง พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่...) พ.ศ....
http://cannabis.fda.moph.go.th/wp-content/uploads/PDF/publichearing/July_2020/6.4-final-รายงานสรุปผลการรับฟังความคิดเห็น-ร่าง.pdf

[3] ร่าง พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่...) พ.ศ.... ฉบับรับฟังความคิดเห็นหมดเขตวันที่ 9 มิถุนายน 2563
https://ift.tt/2W3uV2e

Let's block ads! (Why?)



"ภาคบังคับ" - Google News
July 10, 2020 at 05:20PM
https://ift.tt/2W2YLUM

รุกไปอีกขั้น!!! เตรียมแก้ไขกฎหมาย“ยกเลิก” บทเฉพาะกาล 5 ปี “กัญชาผูกขาดเฉพาะภาครัฐ” / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ - ผู้จัดการออนไลน์
"ภาคบังคับ" - Google News
https://ift.tt/2YaK1os
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
https://koi.prelol.com/

Bagikan Berita Ini

0 Response to "รุกไปอีกขั้น!!! เตรียมแก้ไขกฎหมาย“ยกเลิก” บทเฉพาะกาล 5 ปี “กัญชาผูกขาดเฉพาะภาครัฐ” / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ - ผู้จัดการออนไลน์"

Post a Comment

Powered by Blogger.